คำถาม (มัก) ง่าย

ในช่วงต้นของหนังสือ ‘เจ้าชายน้อย’ มีการให้ความเห็นว่าผู้ใหญ่บนดาวโลกมักจะพูดคุย สนทนา ซักถามกันด้วยเรื่องเกี่ยวกับ ‘ตัวเลข’ ซะเป็นส่วนมาก เช่น อายุเท่าไหร่, ขนาดเท่าไหร่ หรือ ราคาเท่าไหร่ เป็นต้น

ฉุุกคิดเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะว่าเราเองก็เจอคำถามที่ไม่อยากตอบเพราะไม่ใคร่ชอบใจอยู่บ่อยๆ ซึ่งคำถามพวกนั้นก็เกี่ยวกับคำว่า “เท่าไหร่” และข้องเกี่ยวกับ “ตัวเลข” ซะด้วย

หากแม้นเป็นคนสนิทชิดใกล้ก็ยังพอทำเนา พอจะทำใจได้บ้าง แต่กับบางคน (ซึ่งรวมๆ กันแล้วได้หลายคน) ที่ไม่ได้คลุกคลีตีสนิทกันสักกี่มากน้อย เผลอๆ พบกันเป็นครั้งแรกก็มี แต่พวกเขาก็ยังสร้างคำถามบางคำถามขึ้นมาเพื่ออะไรสักอย่างที่เราไม่เต็มใจเรียกมันว่า ‘ความคุ้นเคย’ หรือ ‘การรู้จักกันมากขึ้น’

สูงเท่าไหร่?
เงินเดือนเท่าไหร่?

เป็นสองคำถามในชีวิตที่เจออยู่บ่อยๆ
โดยเฉพาะคำถามแรก แทบจะตั้งแต่เริ่มจำความได้เลย

บางคนอาจจะถามด้วยความ ‘ขบขัน’ หรือ ‘ขำๆ’
บางคนอาจจริงจังเพราะอยากรู้จริงๆ
บางคนอาจจะให้ความเห็นว่า “โดนถามมาเยอะน่าจะชิน”
เราอยากบอกว่าเรื่องบางอย่างมันไม่สามารถใช้คำว่า “ชิน” มาเป็นข้ออ้างในการอยากรู้อยากเห็นได้

บางครั้งเราก็เลือกที่จะนิ่งๆ
บางครั้งก็เราเลี่ยงที่จะไม่ตอบ
บางครั้งเราก็แค่ยิ้มๆ
บางครั้งเราก็ตอบอย่างเสียไม่ได้

จะอย่างไรและทำไมก็ตาม,
การถูกถามด้วยคำว่า “เท่าไหร่” และมีคำตอบเกี่ยวกับ “ตัวเลข”
เราก็ไม่สามารถจะตอบมันได้อย่างสบายใจเลย

บางคนอาจจะอยากตอบคำถาม “เท่าไหร่” ด้วยความภาคภูมิใจ
เราไม่ตอบไม่ใช่เพราะอาย
แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องอธิบายให้คนอื่นรู้จักตัวเราด้วยตัวเลขบางตัวเลขก็ไม่รู้
อะไร ทำไม อย่างไร และอีกหลากหลายรูปบบคำถามดูจะน่าสนใจและน่าให้คำตอบมากกว่า

สำหรับเรา,
ไม่ได้บอกว่าคำถาม “เท่าไหร่” กับคำตอบ “ตัวเลข” เป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวมากมายขนาดนั้น เพียงแต่พอเข้าโหมดส่วนตัว มันจะกลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ น่ารำคาญ น่ารังเกียจ น่าต่างๆ นานาในเชิงลบขึ้นมาทันที และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนที่ถามไม่ได้่มีทักษะในการสังเกตบริบท, กาละเทศะ หรืออารมณ์ของคนถูกถามแล้วด้วยล่ะก็
มันจะทำให้
“คำถามง่ายๆ” กลายเป็น “คำถามมักง่าย” ขึ้นมาทันทีที่หลุดจากปาก

สงสัยว่าเราทุกคน รวมถึงตัวเราด้วย คงเคยชินกับคำถามเหล่านี้ในเชิงนี้กันไปซะแล้ว
.
.
.
“เมื่อคุณเล่าถึงเพื่อนใหม่ของคุณ พวกผู้ใหญ่จะไม่ถามถึงเรื่องสำคัญๆ กับคุณเลย เขาจะไม่มีวันถามว่า “เสียงของเขาเป็นอย่างไร” “เขาชอบการเล่นชนิดใด” “เขาสะสมผีเสื้อหรือเปล่า” แต่เขาจะถามคุณว่า “เขาอายุเท่าไหร่นะ” “เขามีพี่น้องกี่คน” “เขาหนักเท่าไหร่” “พ่อของเขามีรายได้เท่าไหร่ และเพียงเท่านี้เองที่พวกเขาเข้าใจว่าเขาได้รู้จักกับคนคนหนึ่งแล้ว” เจ้าชายน้อย

ม้วนเดียวไม่จบ

เคยเขียนอวดไปเมื่อสองสามเดือนก่อนว่ามีของเล่นใหม่ นั่นคือ เจ้าโรบอตสามตา
ระหว่างนั้นก็เล่นไปเรื่อยๆ กดถ่ายไปอย่างไม่เร่งร้อน แต่ก็ลุ้นให้หมดม้วนไวๆ เหมือนกัน เพราะอยากเห็นรูปใจจะขาด และในที่สุดการรอคอยก็หมดอายุ เพราะเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เอาเจ้า Lucky Color Film ไปล้างมาเรียบร้อย ผลที่ออกมาก็ยิ่งกว่าพอใจ

ความรู้สึกของการเห็นรูปถ่ายจากฟิล์มนี่มันตื่นเต้นกว่าที่คิดเอาไว้

ทั้งสี ทั้งเกรนของฟิล์มลัคกี้ที่คลาสสิกจับใจ
และมุมภาพที่ต้องกะระยะเอาเองเพราะไม่มีจอให้ดู ได้รูปออกมาแล้วมันดีกว่าที่ิคิดเอาไว้ซะอีก

รูปจากสองม้วนแรกที่ออก
ทำให้รู้ว่าคราวหน้าจะต้องถ่ายอะไรยังไงถึงจะดีกว่าเดิม

แต่ก็นะ, รู้ไปก็เท่านั้น
เพราะถึงเวลาเข้าจริงๆ แค่อยากจะถ่ายสิ่งที่อยากจะถ่ายตามอารมณ์ แค่ได้กดชัตเตอร์ก็แล้วใจแล้ว ภาพจะออกมาเป๊ะ หรือออกมาเละ ก็ไม่ได้มีผลต่อจิตใจสักเท่าไหร่แล้ว รูปออกมาสวยก็คงเป็นผลพลอยได้ ให้ยิ้มได้อีกครั้ง