ที่ว่างระหว่างเสาสองต้น

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาไปดู ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’

ประทับใจในหลายๆ ส่วนของหนัง แต่สิ่งที่เป็นที่สุดเห็นจะเป็นบทประพันธ์ดั้งเดิม รู้สึกว่ามีความคมคาย และมีความหมายหลายๆ อย่างซ่อนอยู่ พร้อมให้เราตีความ

สำหรับหนังที่ทำใหม่โดยหม่อมน้อยครั้งนี้ เราชอบฉากที่คุณอาของส่างหม่อง หยิบปรัชญาความรักของคาริล ยิบรานจาก The Prophet มาตบหน้าหลานชายสุดที่รักที่บังอาจมีสัมพันธ์กับเมียสุดที่รักของตัวเอง

มันเป็นฉากสั้นๆ ที่ตอบความหมายของความรักได้น่าสนใจมากๆ

เรายังไม่เคยอ่าน The Prophet อย่างจริงจังตั้งแต่ต้นจนจบทั้งต้นฉบับและฉบับแปล แต่เมื่อพะโป้ได้ยกข้อความจากหนังสือขึ้นมา เรากลับคุ้นเรื่องของ ‘เสาวิหาร’ มากๆ คิดว่าคงเคยอ่านหนังสือเล่มไหน ของใครสักคน แล้วนักเขียนท่านั้นคงจะยกเอามาจาก The Prophet นั่นเอง

มุมมองความรักของยิบรานในหนังสือเล่มนี้ เราคิดว่าเน้นเรื่องช่องว่างและอิสระในความรัก

ฟังแล้วทำให้เรานึกถึงเพลง ‘ที่ว่าง’ ของวงพอสขึ้นมา

รับรู้ทั้งกลอน และเนื้อหาของเพลงแล้วทำให้อดคิดถึงตัวเองขึ้นมา เรามักไม่เว้นช่องว่าง ช่องไฟให้กับความสัมพันธ์ คิดว่ารักแล้วต้องอยู่ใกล้ รักแล้วต้องตัวติดกัน รักแล้วต้องแยกกันไม่ออก รักแล้วเธอต้องเป็นของฉัน

มันเป็นความรักที่ดูอึดอัด กักขัง ไม่สร้างสรรค์ และเหนื่อย

ถ้าทำได้ เราก็อยากให้ใจเราเป็นเหมือนเสาวิหาร ที่คอยค้ำวิหารให้อยุ่เนิ่นนาน โดยที่เสาแต่ละต้นไม่ต้องตั้งวางติดกัน แต่ละต้นมีระยะหว่างที่เหมาะสม ที่จะสร้างสมดุลย์ให้เกิดขึ้น นอกจากจะดูเป็นระเบียบ สวยงามแล้ว ยังก่อประโยชน์

จงเติมถ้วยของกันและกัน แต่อย่าดื่มจากถ้วยเดียวกัน
จงให้ขนมปังแก่กัน แต่อย่ากัดกินจากก้อนเดียวกัน
จงร้องและเริงรำด้วยกันและจงมีความบันเทิง
แต่ขอให้แต่ละคนได้มีโอกาสอยู่โดดเดี่ยว
ดังเช่นสายพิณนั้นต่างอยู่โดดเดี่ยว
แต่ว่าสั่นสะเทือนด้วยทำนองดนตรีเดียวกัน

จงมอบดวงใจ แต่มิใช่ต่ออีกฝ่ายหนึ่ง
เพราะหัตถ์แห่งชีวิตอมตะเท่านั้นที่จะรับดวงใจของเธอไว้ได้
และจงยืนอยู่ด้วยกัน แต่ว่าอย่าใกล้กันนัก
เพราะว่าเสาของวิหารนั้นก็ยืนอยู่ห่างกัน
และต้นโพธิ์ ต้นไทร ก็ไม่อาจเติบโตใต้ร่มเงาของกันได้

สบอากาศ

ช่วงนี้อากาศไม่ได้เปลี่ยนแปลงบ่อย

แต่เป็นไปตามธรรมชาติ ตามฤดูกาลของมัน

เพียงแต่ว่าพื้นฐานการอยู่บนเส้นละติจูดเท่านั้น ลองติจูดเท่านี้ของบ้านเรา ทำให้เป็นเมืองร้อน แม้จะเข้าหน้าฝน หรือจะก้าวสู่หน้าหนาว ยังไงซะ บ้านเราก็ไม่ลืมกำพืดความเป็นเมืองร้อนเด็ดขาด

ในช่วงร้อนสลับชื้น

เย็นสลับอ้าวแบบนี้

โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็ได้ทีเข้ามาบุกประชิดคนนั้นคนนี้รวมถึงตัวเราค่อนข้างมาก โอกาสแบบนี้เหมาะอย่างยิ่งในการไถ่ถามความเป็นไปของสุขภาพ และอวยชัยให้พรคนป่วยให้ดีวันหายคืน ซึ่งเราว่าเวลาแบบนี้แหล่ะมันอบอุ่นนะ

แม้จะอ่อนแอเพราะพิษไข้ทำร้ายไปบ้าง แต่มันก็ไม่ได้ทำลายอะไรบางอย่างดีๆ ที่อยู่ในชีวิตเราหรอก ขอให้เชื่อเถอะว่าภูมิคุ้มใจก็สำคัญพอๆ กับภูมิคุ้มกันร่างกาย

นอกจากช่วงฤดูที่ผกผันแบบนี้จะทำให้เป็นฤดูแห่งโรคภัยแล้ว

มันยังเป็นเหมือนวัตถุดิบที่ทำให้หลายๆ คนเลือกใช้ไปเขียนเพลง เขียนหนังสือ เขียนโปสการ์ด เขียนบันทึก หรืออาจจะแค่นั่งคิดถึงใคร

อากาศมีผลต่ออารมณ์

ทั้งอารมณ์ในด้านบวกและด้านลบ

อากาศสร้างโอกาส

เชื่อซิ, ว่าพอฝนพรำ หรือ ลมหนาวพัดมาเมื่อไหร่ ใครหลายๆ คนก็ไม่อยากอยู่คนเดียว พยายามชักชวนกันไปสังสรรค์ หรือหากิจกรรมทำเพื่อที่จะไม่ต้องใช้อารมณ์ด้านลบอยู่ในห้องคนเดียว

อากาศก็เลยเป็นข้ออ้างชนิดดีที่เกร่อ เกลื่อนกลาดแต่ไม่มีวันตกยุค

วันนี้เราก็อารมณ์ค่อนข้างปกติไม่ถึงกับดี และไม่ได้แย่ แต่มันเพราะอากาศอึมครึม ทึมๆ นี่แหล่ะที่ทำให้คิดถึงใครหลายๆ คนจนคิดว่าต้องหยิบโปสการ์ดมาสนองอารมณ์ของอากาศวันนี้ซะแล้ว

บุญคุณมะลิ

อ่าน ‘บ้านเกิดและเพื่อนเก่า’ ของคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ ผู้ล่วงลับจบไปเมื่อวันสองวันก่อน เกิดอารมณ์อยากเล่าเรื่อง ‘บ้านเกิด’ และ ‘เรื่องเก่า’ ในวัยเด็กของเราบ้าง

ในหนังสือเล่มนี้ คุณวาณิชเล่าเรื่องเพื่อนๆ และคนรอบๆ ตัวเป็นหลัก รวมถึงกิจกรรม การละเล่นต่างๆ ที่ได้ทำ ได้เล่นเมื่อครั้งกระโ้น้นด้วย

ที่เราอยากดึงความทรงจำกลับมาเล่าครั้งนี้ เป็นเรื่อง ‘งานพิเศษ’

ตอนเราเรียนอยู่ชั้นประถมฯ ฐานะทางบ้านเราจัดอยู่ในระดับ ‘จน’ ไ้ด้เลยนะ (ตอนนี้ก็ยังไม่สามารถจัดว่ารวยได้เช่นกัน) ถามว่าเราน้อยเนื้อต่ำใจมั้ย แน่นอน, แต่โชคดีของแม่ที่เราไม่ใช่เด็กงอแงที่ร้องจะเอาโน่นเอานี่ อาจเพราะรู้ว่าถึงอยากได้ก็ไม่ได้ ร้องไห้ไปก็อาย ก็เหนื่อยเปล่าๆ

การที่จะหาเงินไปโรงเรียนเพื่อเป็นค่าเดินทาง และค่าอาหาร หรือค่าขนมของเรานั้น ลำพังจะหวังพึ่งรายได้จากการที่แม่ทำงานรับจ้างหลากหลายเพียงอย่างเดียวก็ดูจะไม่พอ เราเลยต้องมี ‘งานพิเศษ’

เด็กบ้านนอกในสมัยนั้นจะให้ไปยืนอยู่ที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดก็คงผิดเรื่อง สถานที่ทำงานของเราจึงเกี่ยวกับเรือกสวนไร่นา

จริงๆ เราก็ทำงานพิเศษเพื่อรายได้พิเศษมาไม่น้อยนะ แต่ที่อยากเล่าถึงเป็นพิเศษก็เห็นจะเป็นการเก็บดอกมะลิ

เราจำไม่ได้แล้วว่าใครเป็นคนบอกให้เราไปเก็บดอกมะลิ จะเป็นแม่เสนอแล้วเราสนอง หรือเป็นเราเองที่ออกตัวก่อนก็ไม่แน่ใจ รู้แต่ว่าเราต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ ตีห้า งัวเงียเดินจากบ้านไปสวนมะลิของคนแถวบ้าน ด้วยอุปกรณ์ในมือ คือ ขันน้ำสำหรับใส่ดอกมะลิ และเทียนสำหรับให้ความสว่าง

ที่สวนมะลิกว้างๆ นั้นไม่ค่อยจะมีคนนัก แต่ก็ไม่ใช่จะมีแค่เรา สิ่งที่ต้องทำคือ การเด็ดดอกมะลิตูมๆ ใส่ขันอย่างรวดเร็ว แข่งกับตัวเอง และคนอื่น แม้จะค่อนข้างมืดเนื่องจากแสงริบหรี่ของเทียนไม่ค่อยได้ช่วยอะไร แต่ดอกมะลิสีขาวโพลนในที่มืดกลายเป็นความสว่างที่เคยตา คุ้นมือพอที่จะทำให้เราเด็ดได้อย่างคล่องแคล่วในเวลาต่อๆ มา

พอไก่เริ่มขัน พระอาทิตย์เริ่มจะทำงาน เราก็ต้องนำดอกมะลิที่เด็ดได้ทั้งหมดไปตวงใส่กระบอกลิตร แล้วเจ้าของสวนก็จะจ่ายเงินเราตามปริมาณที่เด็ดได้

ออกจากสวนเราก็เดินกลับบ้านเพื่อเตรียมตัวไปโรงเรียน ถ้ามันเป็นวันธรรมดา แต่ถ้าเป็นวันหยุดเราก็จะเก็บไปจนถึงสายหน่อย เพราะสวนค่อนกว้างและแบ่งเป็นหลายจุดตามบริเวณบ้านของเจ้าของ (เพิ่งนึกออกว่าเจ้าของ คือ ป้าดม)

ถามว่าการไปรับจ้างเด็ดดอกมะลิเป็นความทรมาณกายและใจมากหรือไม่

ไม่…เท่าไหร่ก็คือคำตอบ

อาจจะแค่รู้สึกตอนที่โดนแม่ปลุกทั้งๆ ที่นอนหลับสบายอยู่ แล้วก็รู้สึกกลัวๆ ตอนที่ต้องเดินจากบ้านไปสวนคนเดียว แล้วก็หวาดๆ ตอนที่ก้มๆ เงยๆ เด็ดดอกมะลิ อย่างว่านะ, เราก็แค่เด็กประถมฯ ตัวเล็กๆ ที่ต้องต่อสู้กับความง่วง ความหนาวเย็น และความกลัว

ไม่ได้รู้สึกโกรธหรือเกลียดแม่ที่ต้องมาทำงานพิเศษอย่างนี้ เพียงแค่อายอยู่บ้างเพราะลูกคนเล็กของป้าดม ก็อายุเท่ากับเรา เป็นเพื่อนเล่นกันด้วยในบางที เลยแอบอิจฉาลูกๆ บ้านเจ้าของสวนอยู่บ้างเหมือนกันในบางอารมณ์

เิงินที่ได้จากการทำงานพิเศษของเราก็คงไม่ได้มาก ไม่ได้มายอะไรหรอก

เพียงแต่มันคงช่วยให้แม่เบาใจไปได้บ้าง ว่าอย่างน้อยเราจะได้ไปโรงเรียนแน่ๆ เพราะแม่สนับสนุนเรื่องการเรียนอย่างจริงจัง จนแค่ไหน ลำบากยังไงลูกต้องได้เรียน

ดังนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจไปที่เราจะผูกพันกับดอกมะลิมากเป็นพิเศษ เพราะดอกมะลิมีความพิเศษกับชีวิตเราที่นอกจากจะเป็นงานพิเศษแล้ว ยังทำให้เรามีรายได้พิเศษก้อนสำคัญที่ช่วยต่อยอดการศึกษาของเราในครั้งนั้น

จะบอกว่าเป็นบุณคุณของดอกมะลิก็คงไม่ผิดนะ

กระดึ้บ

หายไปนานมาก, จริงๆ

ทั้งๆ ที่ก็อยากมาเขียน มาเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เหมือนเคยๆ

แต่ก็กลายร่างเป็นมนุษย์ขี้เกียจจนน่าจะได้รับประกาศนียบัตรไปซะ

เอาเป็นว่าตอนนี้มาบอกเล่ากันให้หายคันมือ หายคาใจสักหน่อยละกัน

ตอนนี้เราก็ยังอยู่ในสถานภาพของคนไร้งานประจำ

เพราะเลิกสมัครงานจริงจัง โดยเฉพาะงานประจำไปพักใหญ่แล้ว

ก็อาศัยยังชีพด้วยเงินเก็บที่เหลือนิดหน่อย และจ๊อบนั่นนี่ที่พอมีพอกินไปวันๆ

มีเครียด มีเหนื่อยใจบ้างตามประสาคนขี้กังวล

แต่โดยรวมชีวิตก็ยังแล่นไปได้แบบกระดึ้บๆ

เรื่องส่วนตัวที่รวมถึงส่วนใจนั้นก็ปกติ

หมายความว่าไม่ได้ทุกข์ ไม่ได้สุขมาก กลางๆ กำลังพอดี

ซึ่งเราชอบมากกว่าเวลาที่สุขล้นอก ทุกข์คับใจนะ

คนเราจะต้องการอะไรมากไปกว่าความธรรมดา และปกติสุขล่ะ

เรื่องสุขภาพก็เรื่อยๆ

ไปหาหมอทุกเดือน กินยาทุกวัน อาการก็ดีขึ้น

หมอเปลี่ยนยาบำรุงให้เมื่อปลายเดือนที่แล้วเพราะผลตรวจเลือดไม่น่าพอใจเท่าไร แต่ยังไม่ร้ายแรง มีผลข้างเคียงจากการเป็นรูมาตอยด์ คือ อาการตาแห้ง ซึ่งเราก็แก้ไขด้วยการไปตัดแว่นมาเรียบร้อย ใส่เฉพาะตอนที่นั่งหน้าคอมนี่แหล่ะ

ใส่แว่นแล้วอาการตาแห้ง ปวดตาก็ทุเลา

ไม่ต้องหยอดตาด้วยน้ำตาเทียมอีกต่อไป

.

.

.

ก็คงจะเท่านี้หล่ะ

ชีวิตช่วงนี้เรียบราบไม่ฉาบฉวย ไม่หวือหวา ไม่เร่งร้อน

ดูเป็นคนอายุขึ้นต้นด้วยเลขสามที่ชิลเกินไปหรือเปล่า…เราเองก็ยังสงสัย