โลกเราไม่ได้ใหญ่ขึ้น…

“โลกเราไม่ได้ใหญ่ขึ้น…แต่มันน่าอยู่น้อยลง”

กัปตันแจ็ค สแปร์โรว์ พูดเอาไว้อย่างนั้นใน At the world’s end ภาคสุดท้ายของหนังโจรสลัด

อาจจะเป็นอย่างนั้น, โลกเรามันไม่ได้ซับซ้อนมากขึ้นเลยสักนิด เป็นผู้อยู่อาศัยในโลกใบนี้มากกว่าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ต้องย้อนไปมองไกลถึงรุ่นบรรพบุรุษโคตรเหง้าศักราช เพราะยังไงเราก็มองไม่เห็นอยู่ดี เอาแค่ความทรงจำลิบๆ ในช่วงสิบหรือยี่สิบปีที่ผ่านมาก็พอ หลับตานึกภาพเก่าๆ ได้แล้ว ลองเอามาเปรียบเทียบกันดูว่าความต้องการ หรือความสุขของเรามันเปลี่ยนไปหรือเปล่า?

นับวันมนุษย์เราลุ่มหลงอยู่กับสิ่งที่เป็นที่สุด รถที่ดีที่สุด, โทรศัพท์รุ่นที่ทำอะไรได้มากที่สุด, กางเกงยีนส์ยี่ห้อที่แพงที่สุด, อินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วที่สุด หรือผู้ชายที่หน้าตาหล่อที่สุด ฯลฯ เราหลงใหลอยู่กับอะไรแบบนั้น ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สิ่งที่เป็นที่สุด โดยละเลยไปถึงความต้องการที่แท้จริง, บางครั้งเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราทำแบบนั้นเพราะสายตาของคนอื่นมากกว่าหัวใจของตัวเอง และที่มากไปกว่านั้น เราไม่สนใจวิธีการที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่เป็นที่สุดนั้น…ความวุ่นวายมันเลยเกิดขึ้น

เราอยู่ในภาวะที่ ‘ใจ’ ของเราไม่เคยพอ ไม่ยอมหยุดนิ่ง อยากได้ก็ต้องได้ ได้มาแล้วก็ต้องได้อีก ได้อีก ได้อีก มากขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไม่หยุด ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยกับความอยากได้ อยากมี อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากครอบครองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด…โลกแห่งความ ‘อยาก’ ของเรามันใหญ่ขึ้น

ความสุขเล็กๆ ความสุขง่ายๆ มันเลยเหมือนจะระเหิด ระหายไปจากใจของเราเสียหมด…นี่เราทำอะไรกันอยู่เนี่ย ทำไมต้องสะสมอาวุธนิวเคลียร์, ทำไมมีเงินพันล้านแล้วยังไม่พอ, กินแล้วยังไม่รู้จักอิ่ม, ดีแล้วก็ยังรู้สึกว่าดีไม่พอ, เร็วแล้วก็ยังคิดว่าเร็วได้อีก…แค่คิดก็เหนื่อยเหลือเกิน

อย่าว่างั้นงี้เลยนะ, ไม่รู้เพราะความคาดหวังที่มากไปของเราหรือเปล่า ที่ทำให้หนังโจรสลัดภาคสุดท้ายมันสนุกน้อยลงกว่าภาคที่ผ่านๆ มา อาจจะเป็นไปได้ว่ามากคนก็ยิ่งมากความ ตัวละครเยอะก็เป็นที่มาแห่งความตาลาย และใจมันเหนื่อยที่จะทำความรู้จัก…แต่อย่างน้อยทุกคนก็เป็นมนุษย์ ที่แสดงความเป็นมนุษย์ออกมาและทำให้เราต้องก้มมองตัวเองลึกกว่าที่เคย

ยามมี…

dsc02716.jpg

dsc02852.jpg

image.jpg

^

^

^

ยามมีตังค์เต็มกระเป๋า เรากิน กิน กินแบบนี้

แต่ยามจนในเวลานี้ ได้แต่เฝ้ารอให้เงินเดือนไหลเข้ากระเป๋า

มิตรรักนักกินเริ่มเรียกร้องให้เราจัดโปรแกรมการหาของกินลงกระเพาะ

เรากำลังคิดว่าจะหาที่ใหม่ หรือไปที่ที่ชอบไปกินบ่อยๆ

แต่ยังไงก็เหอะ…ขอให้เงินเดือนออกซะก่อน

โฮ่!!!

เล่นกันอย่างนี้นะ…จำไว้

เพิ่งได้ดูโฆษณาหมากฝรั่งยี่ห้อนึง จำไม่ได้แล้วว่าอะไร (ความจำสั้นจริงๆ) รู้แต่ว่ามันทำให้เราต้องร้องเพลงของน้องกอล์ฟ-ไมค์ทันทีเมื่อดูจบ “เจอะแบบมันเซ็งเข้าใจไหม แต่ว่าฉันไม่ถึงกับโกรธ…”

ก็แบ่บว่าในโฆษณานั้นทำเหมือนปาปารัซซี่ตามไปถ่ายภาพน้องป๊อบ (สงสัยเหมือนกันว่าทั้งๆ ที่เค้าก็อายุมากแล้วทำไมเรายังต้องเรียกว่าน้องป๊อบอยู่ตลอดเวลา) แล้วก็มีคำถามว่า “จริงหรือเปล่าที่ป๊อบอบู่กับฝรั่ง” แล้วก็มีภาพต่างๆ นานาที่ทำให้เราเห็นว่าข้างกายน้องป๊อบมีฝรั่งตาน้ำข้าวอยู่แล้ว หลังจากนั้นเธอก็ออกมาแถลงข่าวยอมรับว่าเธออยู่กับฝรั่งจริง ดังนี้

“จริงค่ะ ป๊อบอยู่กับหมาก…ฝรั่ง”

เฮ่อ! โคตรเซ็งเลยอ่ะ

นอกจากโฆษณาหมากฝรั่งอันนั้นจะทำให้เราเซ็งเป็ดแล้ว เรื่องของแนน ท้องลมก็ทำให้เราเซ็งแบบปรี๊ดดดๆๆๆ ได้อีกด้วย ตอนนี้ทุกคนคงรู้แล้วใช่มะว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่เธอเริ่มออกสื่อว่าท้องกับใครหน้าไหนก็ไม่รู้ จนข่าวล่าสุดว่าคลอดลูกสาวออกมาแล้วชื่อน้องมันนี่น่ะเป็นเรื่อง Fake โกหกทั้งเพ!!!

ให้ตายเหอะ ทำไมเป็นคนแบบนี้ฟะ มันยังมีเรื่องที่น่าอายกว่าการออกมาเขียนหนังสือแฉตัวเองอีกเหรอเนี่ย สงสารคนเป็นแม่จัง ทำไมเค้าไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดีๆ กว่านี้ อายุก็ไม่ใช่ 5-6 ขวบแล้ว น่าโมโหจริงๆ ทำตัวแบบนี้เราสมควรเรียกเค้าว่า 18 มงกุฏได้มั้ย? อยากรู้จังว่าถ้าเป็นคนปกติจะต้องโดนตำรวจจับหรือเปล่า แบบว่าเข้าข่ายหลอกลวงประชาชนน่ะ

แต่คิดอีกทีก็ดีใจแทนเด็กที่ไม่มีตัวตนคนนั้นนะ…เพราะถ้าเกิดเธอดันมีลูกขึ้นมาจริงๆ ก็คงสงสารเด็กคนนั้นแย่เลย ดีแล้วๆ และอยู่ๆ เราก็คิดพล็อตหนังเรื่องนึงขึ้นมาได้ ‘กังหัน…ท้องลม’ เป็นเรื่องวัยรุ่นสาวที่ชื่อกังหัน ที่มีชีวิตน่าสงสาร และอาภัพยิ่งนัก มีเหตุการณ์มากมายผ่านเข้ามาในชีวิตเธอ สุดท้ายเธอก็ต้องใช้กลวิธีท้องลมเป็นการหาทางออกให้กับชีวิต ว่าแต่เราต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ไอเดียให้กับแนนหรือเปล่าหว่า?

ขอโทษค่ะ

เนื่องด้วยในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้จะเป็นวันขอโทษแห่งชาติ หรือ National Sorry Day ซึ่งมันไม่ใช่ของบ้านเราแน่ๆ มันเป็นของออสเตรเลีย เราเลยถือโอกาสนี้ประกาศขอโทษขอโพย และขออภัยทุกๆ ท่านที่เราเคยกระทำกรรมไม่ดีเอาไว้ ทางทางกาย วาจา และใจ ถ้าใครอ่านมาเจอก็ขอให้รู้เอาไว้ว่าบางทีเราอาจจะไม่ได้ตั้งใจ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถ้ายังไงเสีย…ได้โปรดยกโทษให้เราด้วย หรือถ้าไม่ เราก็ยังยินดีที่จะพูดว่า ‘ขอโทษ’ อยู่ดี เพราะมันคือวันแห่งการขอโทษ

จริงๆ แล้วทั่วโลกน่าจะนำไอเดียนี้ไปใช้นะ เอาให้มันเป็นเรื่องเป็นราวและแพร่หลายเหมือนวันแห่งความรักน่ะ เช่น มีดอกไม้ประจำวันขอโทษ อาจจะเป็นดอกไม้สีขาว ดูมันบริสุทธิ์ (ใจ) ดี ถ้ามีใครถือมายื่นให้เราแปลว่าเค้ารอรับการให้อภัย และการคืนดีจากเราอยู่ น่าสนุกดีนะ ยิ่งใครสร้างเรื่องไว้เยอะ ก็อาจใช้เวลาทั้งวันในการเดินสายไปเคาะประตูเพื่อก้มหัว ยกมือไหว้ และแจกจ่ายดอกไม้เพื่อขอโทษ และอาจจะสร้างสัญลักษณ์แห่งการยอมรับการขอโทษ รวมไปถึงการให้อภัยด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ อาจจะให้เอาเศษผ้าสีขาวมาผูกข้อมือคนที่มาขอโทษ ก็จะเป็นอันรับรู้กันได้…แบบนี้สีขาวก็จะฟุ้งเต็มบ้านเต็มเมือง

แต่คิดไปคิดมา ไม่ต้องมีมันหรอกไอ้วันขอโทษแห่งชาติน่ะ เพราะจริงๆ แล้วเมื่อทำผิด ทำพลาดไปก็ควรจะเอ่ยปาก หรือแสดงความรู้สึกผิดชอบนั้นเลยทันที ไม่ควรปล่อยให้เนิ่นนาน ไม่ต้องรอจนครบปีก็ได้ คนเค้ารอจะยกโทษให้เต็มแก่ พยายามทำให้มันเป็นคำพูดติดปาก ประจำใจไปซะ เหมือนอย่างที่ตอนเด็กๆ คุณครูชอบสอนว่า…

“ขอโทษ ขอบคุณ ขอบใจ ท่องเอาไว้ให้ติดปาก”

แค้นไม่เลิก

mr.jpg old.jpg lady.jpg 

       ในที่สุดเราก็ได้ดูหนังในไตรภาคว่าด้วยเรื่องการล้างแค้น ของผู้กำกับ Park Chan-Wook (น่าจะอ่านว่า ปาร์ค ชาน-วุค) ซึ่งถ้าเรียงลำดับตามที่ผู้กำกับทำออกมามันก็จะเป็นดังนี้ คือ Sympathy for Mr. Vengeance (2002) ตามด้วย Oldboy (2003) และล่าสุดปิดความแค้นด้วย Sympathy for Lady Vengeance

       คาดเอาว่าคนส่วนใหญ่ในบ้านเราน่าจะรู้จักชื่อผู้กำกับคนนี้และติดใจเอามากๆ จากเรื่อง Oldboy ก่อน ซึ่งเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนที่เริ่มได้ยินข่าวในสายบันเทิงว่าหนังจากเกาหลีได้รางวัล Grand Prize of the Jury จาก Cannes Film Festival และต่างๆ มากมาย ยิ่งถ้าเปิดอ่านนิตยสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ก็ยิ่งจะรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันต้องมี ‘อะไร’ แน่ๆ และเมื่อมันมีกำหนดเข้าฉายในบ้านเรา เราย่อมไม่พลาดเห็นๆ และเมื่อออกจากโรง เราก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจนทำให้รู้ว่าหนังเรื่อง Oldboy เป็น 1 ใน 3 ที่ผู้กำกับคนนี้ทำขึ้นมาด้วยเรื่องราวของความอาฆาตแค้น และการตามทวงแค้น

       ลำดับการดูหนังไตรภาคของเราจึงเริ่มด้วยเรื่องของชายแก่ก่อน จึงค่อยมาเป็นความแค้นของหญิงสาว และหมาดๆ กับการอาฆาตของชายหนุ่ม คิดเหมือนกันว่าอยากดูตามลำดับที่พี่ปาร์คฯ แกจัดมาให้ แต่ทำไงได้ เผลอดูเรื่องแรกไปแล้ว ลำดับสับเปลี่ยนและรวนไปหมด แต่ยังไงอรรถรสของหนังก็ยังไม่เสียไปมากมาย

       อย่างที่บอกว่าหนังทั้ง 3 เรื่องมีจุดเชื่อมกันอยู่ที่ความแค้นแสนสาหัส และปฏิบัติการทวงแค้น ที่ไม่มีเรื่องเวลามาปิดกั้น เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน รอยกรุ่นของความแค้นก็พร้อมจะลุกโชนอยู่ทุกเมื่อที่มันเจอเชื้อไฟที่เหมาะที่ควร ซึ่งเมื่อเป็นเรื่องการแก้แค้น ภาพความรุนแรงต่างๆ นานาจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีไม่ได้ ขาดไปก็เหมือนกินข้าวแล้วไม่มีน้ำพริกน้ำปลา อาจจะกินได้แต่ไม่อร่อยลิ้น ยิ่งถ้าใครชอบความสะใจและเลือดที่สาดกันเป็นว่าเล่นใน Kill Bill ก็คงต้องบอกว่าระดับความมัน ความสะใจไม่แพ้กันเลย

       แต่แม้ว่ากลวิธีที่แต่ละคนเลือกใช้มาแก้แค้นในหนังทั้ง 3 เรื่องจะดูแล้วชวนเสียวไส้ หรือหดหู่ใจมากแค่ไหน ก็น่าแปลกใจที่หนังไม่โฉ่งฉ่าง ไม่เอะอะมะเทิ่ง ไม่โหวกเหวกโวยวาย…คล้ายๆ กับการเชือดนิ่มๆ เหมือนสัตว์ใหญ่ที่ใจเย็นยามที่จะขย้ำกระต่ายตัวน้อยๆ ที่เพลิดเพลินใจอยู่ในดงหญ้า กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็โดนกลืนกินไปจนสิ้นเลือด หมดเนื้อไปทั้งร่างแล้ว อาจจะด้วยเพราะความเป็น ‘เอเชีย’ ที่มักจะก่อตัวในรูปของความนิ่ง ความสงบ มากกว่าที่จะแสดงออกมากมายเหมือนฝั่งตะวันตก มันคงเป็นความลึก-ลึกซึ้งอะไรบางอย่างที่เป็นกรรมพันธุ์ โชคดีที่เราเกิดมาแถบเดียวกันเราจึงเข้าถึง เข้าใจอารมณ์บางอย่างได้ดี

       ประเด็นเกี่ยวกับความแค้น มันโดนใจเราไม่แพ้เรื่องความรัก เพราะมันใกล้ตัว เชื่อมั้ยใครๆ ก็ต้องเคยโกรธ และถึงขั้นเคยคิดแค้น บางคนอาจจะลงมือไปแล้วก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น เอาน้ำกรดมาสาดเพราะโดนแย่งสามี, เอามีดปาดคอเพราะแฟนนอกใจ, เผาบ้านเพราะโดนโกง หรือวางระเบิดทุกวี่ทุกวันเพราะคิดว่าไม่มีความยุติธรรมบนโลกใบนี้แล้ว เป็นต้น แต่ใครจะรู้บ้างว่าระดับความแค้นแค่ไหน จึงจะพอเหมาะพอเจาะให้เราออกไปแก้แค้น

       มันต้องมากแค่ไหน ต้องโกรธจัดมากเท่าใด ความเสียหายรุนแรงยังไง มันไม่มีมาตรวัดว่า…เอาหล่ะ ความแค้นที่คุณสะสมไว้มันถึงขีดแล้วที่คุณต้องออกไปจัดการกับคนที่ทำให้คุณเดือดร้อน หรือช้าก่อน ยังไม่ถึงเวลา บ่มเพาะมันเอาไว้สัก 3 ปีมันจะดีที่สุด…

       ไม่มีหรอก, คนเรามีสติปัญญา และความสามารถในการควบคุมอารมณ์ได้ไม่เท่ากัน ซึ่งมันก็ขึ้นอยูกับปัจจัยต่างๆ ทั้งการเลี้ยงดูจากครอบครัว หรือการศึกษา เป็นต้น แม้ว่าจะเจอสถานการณ์เดียวกัน เรายังจัดการแก้ไขปัญหาได้ไม่เหมือนกันเลย นับประสาอะไรกับการควบคุมระดับความแค้นเคืองใจ กับบางเรื่องเราคิดว่ามันเล็กน้อย ปล่อยได้ก็ปล่อย ละได้ก็วางไว้ แต่บางคนถือเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต ยอมไม่ได้ หรือแม้จะให้ตัวบทกฎหมายเข้ามาจัดการ ความสาแก่ใจ ความคุ้มค่ากับสิ่งที่สูญเสียไปก็ยังไม่คืนกลับ ยิ่งถ้าคนที่เป็นฝ่ายโดนกระทำอยู่ตลอดลุกฮือขึ้นมาหาญสู้ ความแค้นนั้นอาจจะคูณสอง…ความแค้นจึงเป็นเรื่องของความคับข้องใจ การอัดอั้นตันใจ ความไม่พอใจในสิ่งที่ได้รับ เมื่อหาทางเอาคืนในแบบถูกกฎหมายและถูกทำนองคลองธรรมไม่ได้, แม้จะรู้ แต่หลายๆ คนก็ยังเลือกที่จะทำ บางทีอาจเป็นเพราะไม่มีอะไรจะเสีย หรือจนตรอกแล้ว

     บางคนใจเย็น รอได้ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ แก้แค้นทีละนิด ทีละหน่อย เพราะความทุกข์ทรมาณแบบค่อยเป็นค่อยไป มันน่ารื่นรมย์กว่าการถือปืนออกมายิงโป้งเดียวจบเป็นไหนๆ…อาจเป็น 3 เดือน อาจเป็น 2 ปี หรืออาจยาวนานเป็นสิบๆ ปี จนกว่าจะได้เห็นความเสียหาย ความพินาศ หรือการดับสูญของชีวิตคนที่เราคั่งแค้น นั่นแหล่ะ เส้นทางโคจรของความแค้นจึงจบสิ้น

       ว่าแต่…แค่เพราะอีกฝ่ายดับ ล้มหายตายจาก เราก็ปลดปล่อยอารมณ์แค้นได้จริงหรือ?

       ถ้าใครที่ดูหนัง 3 เรื่องนี้จบ หรือเพียงแค่เคยโกรธแค้นใครมากๆ มาก่อน น่าจะรู้ดีกว่า ความแค้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่คล้ายกับมนุษย์ มันมีเกิด มันมีแก่ มันมีเจ็บ มันมีตาย…และมันจะกลับมาเกิดใหม่ วนเวียนไปเป็นวัฏจักรอันน่าเศร้านี้ไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

เราแค้นคนที่ทำให้เราแค้น, เราแก้แค้น

คนที่เกี่ยวข้องกับคนที่เราแก้แค้น, ก็แค้นเรา

คนที่เกี่ยวข้องกับเราก็แค้นคนที่เกี่ยวข้องกับคนที่เราแก้แค้น, พวกเขาแค้น

       มันต่อเนื่อง มันไปได้เรื่อยๆ ถ้าตราบใดที่ยังยึดถือคำว่า “แค้นต้องชำระ” เป็นสรณะ

       มักมีคำพูดที่ว่า “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว” เข้าหูเราอยู่เสมอ ซึ่งนอกจากหนัง 3 เรื่องนี้จะโคตรสนุก มันมาก สะใจสุดๆ และทำให้อึ้งแล้ว เราก็กลับมานั่งคิดถึงตัวเอง แถมยังคิดเผื่อไปถึงผู้คนรอบด้าน และสถานการณ์ เหตุการณ์บ้านเมืองของเราในปัจจุบัน…

       เห็นแล้วก็สรุปเอาสั้นๆ ว่า “แค้นกันไม่เลิก”

      

      

ง่อยเปลี้ยเสียมือ

   desk-top.jpg 

  อาชีพปัจจุบันของเราต้องพึ่งพา พึ่งพิงสิ่งไม่มีชีวิตที่เรียกว่า ‘คอมพิวเตอร์’

     ยึดมันเป็นหลักมากแค่ไหน สังเกตเอาง่ายๆ จากเวลาที่ไฟดับ หรือไฟตก เราทำงานต่อไม่ได้เลย ความจำ ข้อมูลทุกอย่างที่ต้องใช้มันอาศัยอยู่ในไอ้เจ้าสมองกลของคอมพิวเตอร์หมดเลย ทำได้แค่นั่งนิ่งๆ มองจอ กดแป้นเล่นไปมาเพื่อรอเวลาที่มันจะคืนสภาพเดิม ทั้งๆ ที่…ตอนที่ไม่มีมันเราก็เคยทำงานเองได้

     เรารู้จักมันอย่างจริงๆ จังก็ล่วงเข้ามาตอนที่อยู่ม.4 แล้ว การเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ทางบ้านไม่ได้มีฐานะร่ำรวย และเรียนโรงเรียนรัฐบาลมาแต่ไหนแต่ไร ทำให้เราเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้งานมันค่อนข้างล่าช้ากว่ามนุษย์ในวัยเดียวกัน แถมครั้งแรกที่ได้รู้จัก ก็เต็มไปด้วยความงกๆ เงิ่นๆ อย่างน่าอับอาย อาจารย์สอนการใช้งานเบื้องต้น ซึ่งโปรแกรมในตอนนั้นไม่ได้ใช้งานง่ายดายอย่าง Microsoft word ถ้าจำไม่ผิดมันจะเป็นพวกราชวิถีหรืออะไรเทือกๆ นั้น เราเองก็จำไม่ได้ รู้แค่ว่าถ้าเมื่อไรที่ต้องเข้าเรียนวิชาคอมพิวเตอร์เราจะเหงื่อตก ไม่กล้าสัมผัสมันเลยทีเดียว กลัวทำพังบ้าง กลัวเพื่อนๆ จะล้อว่าใช้งานไม่เป็นบ้าง

     หลังจากที่หวาดหวั่นพรั่นพรึงกับการเริ่มต้นทักทายสมองกลไฟฟ้า เราก็ห่างหาย โบกมือลาจากมันไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีวิชาที่จะให้เรียนอีกต่อไป ไม่มีกิจกรรมใดๆ ในชีวิตที่ต้องใช้งานมันเลย ทำรายงานก็ยังเขียน ยังทำด้วยลายมือตัวเองล้วนๆ จะหาข้อมูลก็สืบค้นเอาจากหนังสือในห้องสมุด นึกไม่ออกเหมือนกันว่าเราจำเป็นต้องใช้มันในตอนไหน

     แล้วมันกับเราก็โคจรมาเจอกันอีกครั้ง…อย่างจริงจัง

     ผ่านไป 2 ปี เมื่อเราย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ นอกจากเราจำต้องเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรมต่างๆ ที่ถูกบรรจุลงตัวมันอย่างมากมายแล้ว เราก็ใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลางของโลก world wide web อีกด้วย เรียกว่าส่วนหลังเป็นส่วนหลักในการพบปะกันเลยจะถูกต้องกว่า

     เราก้าวหน้าด้วยการมี e-mail ครั้งแรก และเริ่มต้นรู้จักเพื่อนแปลกหน้าด้วยโปรแกรม pirch หรือการ chat และเริ่มรู้สึกตัวว่าคอมพิวเตอร์เข้าใกล้ และเป็นส่วนประกอบสำคัญในชีวิตการเรียน ทั้งการค้นคว้าเรื่องราวจิปาถะ การทำรายงาน และการอ่าน forward mail ซึ่งเราจะเข้าไปใช้บริการมันในทุกครั้งที่มีเวลาว่างจากวิชาเรียน ใช้เวลาหมดไปกับการเพ่งสายตาและสมาธิไปที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่ก็ยังไม่เคยคิดไปไกลว่าหลังจากเรียนจบแล้ว ความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่จะดำเนินไปในทิศทางใด

     หลังเรียนจบ ทุกอาชีพที่เราได้ผ่านมา เรายังยึดโยงเอาคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือหากินอยู่ดี ไม่ว่าจะใช้เพื่อพิมพ์เอกสาร, ส่งเมล์หาลูกค้า, จองตั๋วเครื่องบิน, หาข้อมูล และมันก็ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ที่เราใช้เวลาเกือบ 10 ชั่วโมงอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ และอย่างที่บอก ถ้าเมื่อไรที่ไฟดับ เราก็ต้องนั่งแกร่วไปแกร่วมาเพื่อรอเวลามันฟื้นคืนชีพ ทั้งที่จริงแล้วอาชีพที่เกี่ยวกับการเขียนอย่างเรา น่าจะใช้ ‘มือ’ เขียนได้เอง แต่ทุกวันนี้ประสิทธิภาพการคิด การเขียนของเราจะไม่ทะลัก ทะล้นถ้าหากไม่ได้นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์

     น่าแปลก, ทั้งที่เราเริ่มต้นจากการเขียน เขียนทุกสิ่งทุกอย่างลงกระดาษ

     ปัจจุบัน เราเขียนทุกความคิดลงในกระดาษอิเล็กทรอนิก ที่ลบง่าย เขียนง่าย แก้ง่าย ลอกง่าย

    

     และทั้งๆ ที่ข้อดีมันมีอยู่มากมายแบบนั้น แต่ทำไมเรายังคิดถึงลายมือของเราก็ไม่รู้ และก็เพราะคิดถึง โหยหาด้วยหรือเปล่า  เราเลยบอกตัวเองให้เขียน เขียนที่เป็นการเขียนจริงๆ ไม่ใช่การพิมพ์ ลงสมุด ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบันทึกที่ทำมาเป็นกิจวัตรตั้งแต่เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว หรือการจดความคิด ตารางงานต่างๆ ลงในสมุดจดงาน แทนที่จะเป็นปฏิทินสำเร็จรูปในโปรแกรมคอมพิวเตอร์

     เราชอบคอมพิวเตอร์เพราะมันอำนวยความสะดวกสบาย และเพราะมันเป็นเครื่องมือหากินชิ้นเยี่ยม แต่เราก็รักลายมือที่เกิดจากการเขียนมากกว่าการพิมพ์อยู่ดี…เพราะอย่างน้อยถ้าไฟดับขึ้นมา เราก็ยังจุดเทียนเขียนได้ โรแมนติคไม่เบาเลยใช่มั้ย

ความสุข ความทรงจำไม่มีที่สิ้นสุด

เชียงใหม่ไม่เปลี่ยนไปในความเปลี่ยนแปลง…

     เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเราไปเชียงใหม่

     เป็นรอบเท่าไหร่ในชีวิตก็จำไม่ได้แล้ว ไม่ได้จะอวดว่าไปเชียงใหม่บ่อย แค่จะบอกว่าสำหรับเราให้ไปเชียงใหม่อีกกี่ครั้งกี่คราวเราก็ไม่เบื่อ ไม่ลังเล และไม่คิดปฏิเสธที่จะไปเยือนเลยหากเรามีโอกาส ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อเพื่อนรักโทรมาเป่าลมที่ข้างหูว่าไปเชียงใหม่กันเถอะ เราก็ตอบรับและรีบจัดการหาพาหนะที่จะเดินทางในทันที และดีใจมากขึ้นเมื่อรู้ว่ามีเพื่อนอีกหลายคนที่พร้อมจะเดินทางไปสู่จุดหมายเดียวกัน

     เราไปเชียงใหม่ครั้งแรกตอนอายุประมาณ 6-8 ขวบ (จำไม่ได้จริงๆ ว่าไปช่วงไหนกันแน่ ขอกะไว้ช่วง 3 ปีนี้ก็แล้วกัน) พ่อ-แม่ และคนแถวบ้านเหมารถทัวร์สีส้มไปกันแน่น เราจำสถานที่อะไรไม่แม่นเท่ากับ ดอยสุเทพ, ตำหนักภูพิงค์ และสวนสัตว์

     จำได้ว่าตอนนั้นอากาศหนาวเย็นมาก เราขึ้นไปเที่ยวที่ตำหนักภูพิงค์ แม่เราชอบสวนดอกไม้เอามากๆ โดยเฉพาะดอกกุหลาบที่ใหญ่โตสมฐานะ จนแม่ต้องบอกให้เรายืนถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก แต่เราดันทำหน้าตูมๆ ไม่บานแข่งกับดอกกุหลาบในนั้นสักนิด

     จากนั้นเรามาไหว้พระที่ดอยสุเทพ และลงมาถ่ายรูปที่บันไดพญานาค ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวแทบทุกคนต้องมายืนแอ็คท่า เราก็ถ่ายกับแม่เหมือนกัน แล้วก็ได้ยินคนแถวๆ นั้นพูดว่า “ใครมายืนถ่ายรูปตรงนี้ ต้องได้มาเชียงใหม่อีกแน่ๆ” เรายังเด็กเลยไม่ทันคิดอะไร มาคิดดูอีกทีตอนนี้มันคงเป็นเรื่องของโชคชะตาแล้วหล่ะ เพราะในที่สุดเราก็ดันสอบติดเข้ามาเป็นนักศึกษาที่มอเชิงดอยของจังหวัดเชียงใหม่ ได้มาเยือนอีกครั้งตามคำพูดของใครคนนั้น แต่ไม่ได้แค่มาเที่ยว เรามาอยู่ มาใช้ชีวิตเลยต่างหาก

     เมื่อลงบันไดขั้นสุดท้ายของดอยสุเทพ คณะทัวร์ของเราก็ไปต่อที่สวนสัตว์ ซึ่งเราจำได้แม่นกว่าที่อื่นๆ เพราะเราทำเสื้อกันหนาวหาย กว่าจะรู้อีกทีก็ตอนขึ้นรถกลับบ้าน แล้วแม่ถามว่าเสื้อหายไปไหน เราตอบว่าไม่รู้ แม่บอกว่าสงสัยจะลืมไว้ที่สวนสัตว์ ซึ่งตอนที่พ่อกับแม่นั่งรถมาส่งเราเข้าหอพักที่เชียงใหม่ เราก็ได้ไปสวนสัตว์อีกครั้งแต่ไม่ยักเจอเสื้อกันหนาวตัวเล็กๆ ของเรา

     ย้อนอดีตไปยาวไกลเพียงเพื่อจะบอกว่าเรารู้จักกับเชียงใหม่มานานนม และก็นานพอที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปหลายๆ อย่าง หลายๆ ด้านของเชียงใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเอาตัว เอาใจเข้ามาผูกพันเมื่อ 10 ปีก่อนอย่างแน่นเหนียว เราก็ติดตามข่าวสารของเชียงใหม่ไม่ขาด ทั้งจากสื่อแขนงต่างๆ และข่าวจากเพื่อนฝูงที่อยู่ที่นั่น

     การไปเยือนเชียงใหม่ในแต่ละครั้ง เราจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ทั้งไอ้แบบที่เราเอ่ยปากว่าดี และที่เราส่ายหน้าว่ามีทำไม ซึ่งเมื่อเรามาคิดดูอีกที จะให้เก็บภาพเชียงใหม่แบบเดิมๆ ที่เราชอบเอาไว้มันก็คงจะไม่ได้ คิดง่ายๆ มันคงเหมือนกับคนๆ นึง ที่ต้องมีการเติบโต มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร เค้าก็ยังคือคนๆ เดิม เหมือนเชียงใหม่ที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนโฉมไปมากแค่ไหนเราก็ยังรู้สึกอยู่ดีว่านี่คือเชียงใหม่

     ทางที่ดีของการเปลี่ยนแปลง คือ การยอมรับในความเปลี่ยนแปลงนั้น

     กับเรา, ความรู้สึกต่อเชียงใหม่ยังแน่นเหนียวเช่นเดิม เพราะภาพทรงจำต่างๆ ยังติดอยู่ไม่คลาย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม สงสัยเป็นเพราะมนต์เสน่ห์อะไรบางอย่างแน่ๆ ที่ทำเอาเราติดใจไม่ยอมคลายเสียที

     และไม่แน่ในวันใดวันหนึ่งเราอาจจะไม่ใช่แค่คนที่โฉบไปเชียงใหม่ชั่วครั้งชั่วคราวก็ได้…ใครจะไปรู้

dsc01901.jpg

dsc01972.jpg

dsc01559.jpg

dsc01557.jpg

dsc02198.jpg

dsc02202.jpg

เหตุผลของคนไม่ยอมผูกปิ่นโต

     เดือนๆ นึงเราจะต้องซื้อนิตยสารที่อ่านเป็นประจำอย่างน้อย 3 เล่ม เป็นหัวหนังสือที่ต้องซื้อทุกเล่ม ซื้อทุกครั้งที่ออก อย่างบางเล่มเราตามอ่านมา 4-5 ปี ซึ่งมันก็บ้างที่เราซื้อไม่ทัน หาไม่ได้ มันก็ทำให้เราเซ็งๆ นิดหน่อย แต่ก็อาจจะไปหายืมคนที่มี หรือหาอ่านเอาตามร้านกาแฟ ร้านเช่าหนังสือก็ได้

     มีคนเคยถามและเคยชักชวนให้เราสมัครเป็นสมาชิกหนังสือเล่มนั้นๆ ไปเสียเลย ซึ่งเราก็ตอบไปอย่างไยดีว่า “ไม่ดีกว่า” และเมื่อถูกถามถึงเหตุผล เราก็ตอบได้ทันทีอย่างไม่ต้องคิดหน้าคิดหลังว่า “เป็นนิสัยส่วนตัวที่ไม่ชอบของที่คนอื่นหยิบยื่นมาให้ และที่มากกว่านั้นเราชอบความรู้สึกของการลุ้น”

     ถ้าเราเป็นสมาชิกหนังสือ แน่นอนว่าเราจะต้องได้รับหนังสือเล่มนั้นเป็นประจำทุกๆ เดือน ไม่มีขาด ไม่มีเกิน อาจช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่ยังไงหนังสือก็ต้องเดินทางมาถึงมือเราอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งถ้ามันเป็นอย่างนั้นเราคงจะรู้สึกเหมือนว่าการมาถึงของมันเป็นงานประจำ เป็นกิจวัตรอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ความรู้สึกของการไปเดินซื้อ เดินเลือกหนังสือ ที่สำคัญเราคงจะขาดความผูกพันธ์กับหนังสือไปเล็กน้อย แต่เป็นส่วนเล็กๆ ที่เราไม่ต้องการให้หายไป

     เราชอบความรู้สึกของการรอคอย มันเป็นการรอคอยแบบมีความหวังเพราะเรารู้แน่ว่าหนังสือเล่มนี้จะวางแผงช่วงไหน

     เราชอบความรู้สึกการออกตามหา ทุกครั้งที่เดินผ่านแผงหนังสือในช่วงเวลาที่หนังสือจะออก เราจะชะโงกหรือเดินเข้าไปเมียงๆ มองๆ ว่าหนังสือมาหรือยัง…ถ้ามาแล้วก็จะรีบควักเงินซื้อทันที แต่ถ้ายังเราก็จะทำแบบนี้ทุกวันจนกว่ามันจะมา บางเล่มมีของแถมมาด้วยอาจทำให้หนังสือโดนกวาดซื้อหมดง่ายๆ เราก็ต้องไปตามหาที่ร้านหนังสือใหญ่ๆ ถ้าหมดอีกเราก็จะไปเดินหาเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอ ซึ่งถ้าหากได้มาความรู้สึกมันจะเหมือนเราเจอขุมทรัพย์ เราจะรู้สึกถึงคุณค่าของหนังสือไปอีกเท่าตัว กว่าจะได้มาสักเล่มไม่ใช่ง่ายๆ เราควรจะตั้งใจอ่านมันมากขึ้น

     นี่เป็นเหตุผล เป็นความรู้สึกของคนไม่ชอบผูกปิ่นโตกับหนังสือเล่มใดๆ แม้ว่ามันจะสะดวกสบาย และมีความแน่นอนมากกว่าแค่ไหนก็ตาม

เธอใช่ไหมที่หัวใจของฉันผูกพันธ์

มีคนเข้ามาให้รัก ให้ผูกพันธ์…

แล้วคืนวันก็พาคนเหล่านั้นไปตามทิศ ไปตามทาง

แบบว่าทางใครทางมัน ชีวิตใครชีวิตมัน

แต่…

ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่คิดถึงพวกเขาอีกแล้ว

ไม่ได้ความว่าเราจะโทรไปคุยกับพวกเขาไม่ได้อีกแล้ว

ไม่ได้หมายความว่า…เราไม่รู้จักกันอีกแล้ว

dscf2084.jpg 

img_7587.jpg img_0140.jpg

img_7229.jpg

img_7172.jpg img_6928.jpg

img_0243.jpg

     …

ถ้าว่างก็แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนบ้างนะเจ้าเติ้ล น้องอ้อ

ใจบอกว่าใช่

Intro to pol science

Intro to study of society

Man and Communication

Marketing Principles

International Marketing

Curri and Tech of art ed

Foreign news&Features

     หลังจากใช้เวลา 4 ปีในมหาวิทยาลัย เราได้เกรด A มา 7 ตัว ถ้าเทียบกับเพื่อนที่ได้เกียรตินิยมก็ถือว่ามันน้อยมาก แต่ถ้าเอาเคียงๆ กับเพื่อนที่จะจบมิจบแหล่ก็ถือว่าเป็นเกียรติประวัติที่งดงามมิใช่น้อย…แต่มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าไอ้ 7 วิชาที่เราอุตสาห์คว้า A มาได้นั้น ไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งเลย

     เมื่อคืนก่อนรื้อเอา Transcript มานั่งดู วนไปวนมา ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกรดเน่าๆ ก็ไม่มีทางกระเตื้องขึ้นมา นอกจากจะทำให้เรานั่งคิดไปว่า 7 วิชาที่ว่าทำไมเราถึงพยายามจนได้เกรด A และเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราตั้งอกตั้งใจเรียนในวิชานั้นๆ เป็นพิเศษคืออะไร

     ความชอบส่วนตัว?

     ถูกใจอาจารย์?

     วิชานั้นมันแสนจะง่าย?

     ดวงดี?

     ลอกเพื่อน?

     มันคงมีหลายเหตุผลประกอบกันไป แต่ลอกเพื่อนขอตัดทิ้งไปก่อน ดวงดีตามมาติดๆ เพราะเราเป็นคนไม่มีโชคทางการเสี่ยงใดๆ ทั้งปวง ส่วนไอ้ที่ว่าวิชานั้นมันแสนจะง่ายดายคงไม่ใช่ซะทีเดียว

     เราถามใจตัวเองแล้วก็ได้คำตอบดังนี้…

     เวลาที่เราชอบอะไรสักอย่างเราจะตั้งใจ และผูกติดอยู่กับมันมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเพราะอาจารย์ผู้สอน หรือตัววิชา แต่ถ้าอะไรบางอย่างทำให้เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจ เราจะเดินหน้าและทำทุกวิถีทางที่จะรู้จักกับมันให้มากที่สุด และจะทำให้ได้ดีด้วย ไม่ใช่เพราะหวังเกรด…แต่อย่างที่บอกเราอยากรู้จักกับมัน

     7 วิชาที่เราได้ A

     นอกจากเราจะเลือกนั่งหน้าๆ และตั้งใจฟัง ตั้งใจจดตอนอยู่ในห้องเรียนแล้ว นอกห้องเราชอบไปห้องสมุด ไปไล่หาหนังสืออ้างอิง หรือหนังสือเล่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชานั้นๆ บางทีก็ไปร้านหนังสือเพื่อหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติม และตอนสอบเราจะเอาสิ่งที่เราได้มาจากนอกห้อง ไปเขียนใส่ไว้ในกระดาษคำตอบด้วย ยิ่งคิดว่าอาจารย์จะได้อ่านเยอะ เราก็ยิ่งเขียนมาก เป็นความได้ใจส่วนตัว ที่ไม่อาจหยุดยั้งตัวเองได้

     และเมื่อผลสอบออกมา

     เราจะยิ้มกริ่มเมื่อรู้ว่าไอ้สิ่งที่เราตั้งใจเอาไว้เป็นไปตามนั้น

     แต่ถ้าไม่…เราจะเดินห่างจากวิชานั้นไปเลย

     …

     ตอนนี้,

     เราเกิดภาวะสับสนในจิตใจ ครุ่นคิดมานานหลายเดือนถึงความชอบ ความถนัด ความสามารถของเรา เราเริ่มไม่แน่ใจว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาราว 5 ปี ทุกอาชีพ ทุกงานที่เราได้ผ่าน ได้ลุย ได้เอาจริงเอาจังกับมัน…เรารัก เราชอบ เราถนัด เราหลงใหลมันจริงๆ หรือเป็นเพียงแค่เราชอบบริบทแวดล้อมของมันเท่านั้นเอง เป็นต้นว่า เงินเดือน, เพื่อนร่วมงาน, สถานที่ทำงาน, เจ้านาย หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวงานนั้น

     เราจะรู้ได้ยังไงว่าเราชอบอะไรจริงๆ

     เราอาจทำมันได้ อาจทำมันได้ดี…

     แต่เราชอบและอยากอยู่กับมันไปตลอด นานๆ จริงๆ หรือ?

     …

     เราไม่ได้เคยคำตอบนั้น

     และถ้าเราได้คำตอบมาจริงๆ เราจำทำยังไง

     เดินหนีจากสิ่งที่เป็นอยู่เพียงเพราะเราไม่ได้รักมัน

     อยู่กับมันต่อไปทั้งๆ ที่รู้ว่าเราไม่ได้รักมัน

      …

      Someday we’ll know

three.jpg