ลิตเติ้ลทรี
เป็นวรรณกรรมเยาวชนเล่มนึงที่ผ่านตา โฉบหน้าเรามาหลายปีแล้วแต่เราก็ยังไม่ยอมอ่านสักที จนเมื่องานหนังสือครั้งล่าสุดนี่หล่ะที่ตัดสินใจซื้อหามาอ่าน เหตุผลก็คงอย่างที่เราบอกตัวเองและบอกคนอื่นอยู่บ่อยๆ นั่นแหล่ะว่า หนังและหนังสือมันมีเวลาที่เหมาะสมกับตัวเราเหมือนกัน และตอนนี้ก็คงได้เวลาของหนังสือเล่มนี้ซะที

ลิตเติ้ลทรีเล่าวิถีชีวิตของชนเผ่าเชโรกีในแง่มุมเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ
ชนเผ่านี้ถูกรุกรานโดยคนขาว พวกเขาถูกบังคับให้ทำอย่างนั้น ถูกห้ามไม่ให้ทำอย่างนี้ และถูกมองอย่างต่ำต้อย โดนหยามเหยียดกับความเป็นตัวเองในแบบของพวกเขาที่ยึดถือมาเินิ่นนาน

เชโรกีรักธรรมชาติ,
ซึ่งเปรียบประดุจมารดา
เวลาที่เรารักอะไร เราจะไม่ทำร้าย ไม่ทำลาย แต่เราจะอยู่ร่วมอย่างสร้างสรรค์
และชาวเชโรกีก็เป็นเช่นนั้นเอง

ลิตเติ้ลทรี
เล่าเรื่องผ่านเด็กชายตัวเล็กๆ ที่ชื่อลิตเติ้ลทรี เด็กชายกำพร้าซึ่งต้องมาอาศัยอยู่กับปู่และย่าซึ่งเป็นชาวเชโรกี เปรียบเสมือนต้นกล้าน้อยๆ ที่เพาะไว้จนเหมาะสม และถูกนำมาปลูกลงดิน ต้นไม้ต้นนี้ถูกเลี้ยงด้วยความเอาใจใส่ ทั้งรดน้ำ ให้ปุ๋ย พรวนดิน แถมยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้ง ดิน น้ำ ลม ฤดูกาล

มีบ้างเหมือนกันที่ลิตเติ้ลทรีต้องเจออะไรแย่ๆ จากผู้ใหญ่ใจร้าย หรือจากกลไกของรัฐ แต่นั่นกลับทำให้เขายิ่งรู้โลก รู้รอบ และกล้าแกร่ง บางที, การสอนให้เด็กรู้จักมองโลกในแง่จริง และตักเตือนหรือบอกกล่าวกันด้วยเหตุผลก็เป็นวิธีที่ดีอย่างหนึ่ง

ลิตเติ้ลทรีที่เราอ่านจบลง
เป็นเหมือนภาพฝัน
ฉากในหนังสือที่ถูกบรรยายทำให้เห็นภาพอันสงบ สวยงาม และยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ รวมไปถึงสายใยที่มนุษย์กับธรรมชาติที่มนุษย์มิใช่เจ้าของ หากเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องอยู่อย่างเกื้อกูลและสร้างสมดุลย์ให้กันและกัน

วิถีชีวิตของชาวเชโรกีในหนังสือเล่มนี้น่าอิจฉามาก
และน่าจะเป็นรูปแบบชีวิตเรียบง่ายแต่อิ่มใจที่คนเมืองส่วนใหญ่บนโลกนี้ฝันอยากเป็น

นอกจากจะเล่าให้เราเห็นภาพชีวิตประจำวันและการพึ่งพิงธรรมชาติอย่างไม่โลภของ รวมถึงนิสัยใจคอของชาวเชโรกีแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีแง่คิดดีๆ ที่ชาวเชโรกีใช้สอนลูกหลานของตัวเองด้วยวิธีการสอนง่ายๆ แต่ล้ำลึก หรือจริงๆ แล้วใช้สอนคนอ่านอย่างเราๆ อย่างแนบเนียน

อย่างเช่น

ย่าบอกว่าที่ผมทำน่ะถูกต้องแล้ว เพราะเมื่อเราพบอะไรดีๆ สิ่งแรกที่น่าจะทำก็คือ แบ่งปันสิ่งดีนั้นกับใครก็ตามที่เราพบ เพื่อสิ่งดีจะได้แพร่ขยายออกไปอย่างไม่รู้สิ้นสุด ซึ่งก็ถูกของย่า

ผมรู้สึกไม่ดีเอาเสียเลย มันว่างโหวงไปหมด ปู่บอกว่าปู่เข้าใจว่าผมรู้สึกอย่างไร เพราะปู่เองก็รู้สึกไม่ต่างไปจากผม แต่ปู่บอกว่า ทุกอย่างที่เราสูญเสียไปหากเป็นสิ่งที่เรารัก เราก็ย่อมรู้สึกอย่างนี้ ปู่บอกว่ามีทางเดียวที่จะทำให้ไม่รู้สึกอย่างนี้ก็คือ ต้องไม่รักอะไรเลย ซึ่งนั่นแย่ไปกว่านี้ เพราะเราจะรู้สึกว่างเปล่าตลอดเวลา

ในความเป็นจริง ยิ่งเราทันสมัยเท่าใดโดยที่เราไม่ยึดในระบบคุณค่า เราก็จะใช้สิ่งทันสมัยต่างๆ ไปในทางที่ไม่ดี ในทางทำลายล้าง และก่อหายนะขึ้นได้

.
.
.
ถ้าเปรียบคนอ่านเป็นต้นกล้าเล็กๆ
หนังสือเล่มนี้ก็ทำให้รากเล็กๆ ของเราหยั่งลึกลงดินได้มากขึ้น
และทำให้กิ่ง ก้าน ใบ ขยาย แตกก่อต่อยอดไปได้อย่างนุ่มนวล

6 thoughts on “The Education of Little Tree

  1. หนังสือเล่มนี้ ก็เคยเป็นเล่มโปรดของโอปรา วินฟรีย์ค่ะ
    เธอถึงกับเอามาโปรโมตผ่านรายการ
    แต่หลังจากที่โอปรารู้ว่าคนเขียนเรื่องนี้เป็นใคร
    เธอก็โยกย้ายความชอบที่มีต่อหนังสือเล่มนี้
    ไปเป็นหนังสือที่ไม่อยากแตะอีกต่อไป

    ตอนที่อ้อรู้ว่าคนเขียนเป็นใคร
    ก็แอบรู้สึก ‘เฮ้ย’ นิด ๆ เหมือนกัน
    แต่ยังไงก็ตาม
    ความดีความชอบของหนังสือเล่มนี้
    มีมากเกินกว่าจะเปลี่ยนใจไม่ชอบเพราะรู้ว่าคนเขียนคือใคร

    หลังอ้ออ่านเล่มนี้จบ
    อ้อไปหาหนังสือเกี่ยวกับอินเดียนแดงมาอ่านอีกเยอะเลยล่ะ 🙂

  2. ใช่เลยน้องอ้อ
    ตัวหนังสือมันดีเกินที่จะโกหกและไม่บอกต่อ

  3. คิดไปคิดมา
    ก็ไม่น่าเชื่อเลยนะว่าถ้าคนเขียนเคยทำเรื่องอย่างว่าจริงๆ จะเขียนหนังสือน่ารักๆ เล่มนี้ขึ้นมาได้ด้วยหัวใจแบบนั้น…ทึ่งปนอึ้ง

  4. คนเขียนคนนี้ทำให้นึกถึงคำพูดที่บอกว่า
    ‘ไม่มีมนุษย์คนไหนอยากเป็นคนเลวหรอก’
    นอกจากจะเขียนเพื่อบำบัดความรู้สึกผิด
    ตาคนนี้คงเป็นคนดีพอสมควรล่ะ อ้อว่า

  5. ในสายตาของคนที่ถูกกระทำ
    ไม่รู้ว่าหนังสือเล่มนนี้จะพอชดใช้ หรือ ชดเชยสิ่งที่ถูกกระทำได้บ้างหรือเปล่าเนอะ
    ได้ข่าวมาว่าบางห้องสมุดในอเมริกาไม่มีหนังสือเล่มนี้ เหตุเพราะมีการร้องเรียนว่าข้อมูลของชาวอินเดียนบางอย่างจากหนังสือมันบิดเบือนไป

Leave a reply to mamahugme Cancel reply